เกี่ยวกับเรา

ประวัติ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา โดยเป็นการจัดตั้งหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามความในมาตรา 18 (3) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531 เพื่อรองรับการจัดการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีโครงสร้างการบริหารงานลักษณะพิเศษที่เน้นความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยอ้างอิงระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของคณะฯ ในช่วง 2 ปีแรกของการจัดการเรียนการสอน คณะฯ ได้ดำเนินการภายใต้ชื่อ "โครงการจัดการศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรม" โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) และในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติอนุมัติการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุมัติระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารงานคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544 และต่อมาใน พ.ศ. 2548 ได้มีการเปลี่ยนชื่อคณะเป็น "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง"

โดยแรกเริ่ม ในปี พ.ศ.2542 คณะฯ ได้เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรแรกในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม โดยมีนักศึกษารุ่นแรกที่ขึ้นทะเบียนในปีการศึกษา 2542 จำนวนทั้งสิ้น 61 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้จัดตั้งหลักสูตรสถาปัตยกรรมภายในบัณฑิตและหลักสูตรการผังเมืองบัณฑิตขึ้น และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ของการดำเนินการ คณะฯ ได้มีการจัดตั้งหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อเป็นการต่อยอดการศึกษาให้กับนักศึกษาในคณะฯ และผู้สนใจจากภายนอก โดยตลอดระยะเวลาในการดำเนินการ คณะฯ ได้มีการพัฒนา ปรับปรุง หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อรักษาคุณภาพทางการศึกษา และได้จัดตั้งหลักสูตรอื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาขึ้นอีกหลายหลักสูตร ทำให้ปัจจุบัน คณะฯ ได้มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้นจำนวน 13 หลักสูตร แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 7 หลักสูตร และระดับบัณฑิตศึกษา 6 หลักสูตร ดังนี้

หลักสูตรระดับปริญญาตรี ได้แก่

  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาสถาปัตยกรรม)
  • หลักสูตรสถาปัตยกรรมภายในบัณฑิต (สาขาสถาปัตยกรรมภายใน)
  • หลักสูตรการผังเมืองบัณฑิต (สาขาการผังเมือง)
  • หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สาขาภูมิสถาปัตยกรรม)
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาสถาปัตยกรรม เพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์)
  • โครงการหลักสูตรการออกแบบชุมชนเมืองบัณฑิต (สาขาการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง) หลักสูตรนานาชาติ (Urban Design and Development (International Program))
  • โครงการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี) หลักสูตรภาษาอังกฤษ (Design, Business & Technology Management (English program)

หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ได้แก่

  • หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาสถาปัตยกรรม)
  • หลักสูตรการผังเมืองมหาบัณฑิต (สาขาการผังเมือง)
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขานวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์)
  • หลักสูตรการออกแบบชุมชนเมืองมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี) (หลักสูตรภาษาอังกฤษ)
  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาสหวิทยาการสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง)